000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ > แผ่นดี....ช่วยชุด จริงหรือ
วันที่ : 12/02/2016
6,684 views

แผ่นดี....ช่วยชุด จริงหรือ

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

          ในการฟังเครื่องเสียงปฏิเสธไม่ได้ว่าแหล่งรายการอันเป็นต้นน้ำสุด ย่อมมีผลต่อคุณภาพเสียงในบั้นปลายอย่างยิ่ง ปัจจุบันในการฟังเครื่องเสียงแหล่งรายการก็คือ คุณภาพของแผ่นและคุณภาพของการบันทึกเสียงมา ไม่ว่าแผ่น CD, แผ่นเสียงไวนีล, แผ่นบลู-เรย์ (เสียง), แผ่นDVD audio และแผ่นSACD ป่วยการที่สรรหา แสวงหาเครื่องเสียงดีเลิศ ไม่ว่าเป็นอุปกรณ์ชิ้นไหน ส่วนไหนของการประกอบเป็นชุดเครื่องเสียง ถ้าสิ่งเหล่านั้นจะต้องถูกใช้ถ่ายทอด แหล่งรายการ ที่มีคุณภาพต่ำเพราะพวกมันก็จะถ่ายทอด,นำเสนอคุณภาพที่ด้อยนั้นออกมาหมดจด

           ลองฟังรายการวิทยุ ต่อให้เปิดเพลงจากแผ่นCD ที่บันทึกมาเด็ดดวงแค่ไหน แต่พอจบเพลง เสียงผู้จัดรายการดังขึ้น เป็นใครก็ฟังออกว่าเสียงโฆษณาชัดถ้อยชัดคำ เป็นธรรมชาติสมจริง อย่างฟังออกชัด ดูหนังทางทีวีที่มีพากย์ไทยก็จะพบว่า เสียงพากย์ชัดถ้อยชัดคำกว่ามาก

          ไปฟังเครื่องเสียงในงานโชว์หรือตามโชว์รูม ร้านขาย สิ่งหนึ่งที่ผู้ขายมักนำมาใช้ซึ่งถือเป็นเทคนิคหนึ่งในการขายของให้ได้คือ จะคัดสรรแผ่นCD ที่บันทึกมาอย่างสุดยอดเพื่อช่วยให้ชุดเครื่องเสียงของเขาฟังดีขึ้นไม่ว่าใน่แง่สุ้มเสียงและ มิติเสียง บางครั้งขนาดใช้แผ่นCD ที่บันทึกมาเป็นพิเศษ ทั้งการตกแต่งมาสเตอร์ การบันทึก การทำแผ่น หรืออาจใช้แผ่นSACD ,แผ่นHDCD,แผ่นXRCD 24-bits ฯลฯ ไม่นับพวกที่ใช้แผ่นที่บันทึกมาอย่างเสริมแต่ง(ตรงข้ามกับกรณีแรกที่เน้น “ความเที่ยงตรง”เหมือนต้นกำเนิดที่สุด) เพื่อช่วยแต่งเติมเครื่องเสียงให้ฟังน่าประทับใจ น่าตื่นเต้น ซึ่งปกติเครื่องเสียงนั้นขาดแคลนส่วนแต่งเติมนี้

          เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้มีโอกาสหยิบยืมแผ่นCD ที่บันทึกมาอย่างเน้นคุณภาพเป็นพิเศษ โดยระบุที่ปกว่า uncompressedคือ ไม่มีการกดการสวิงของเสียงเอาไว้ แผ่นหนึ่งประมาณ(ถ้าจำไม่ผิด) 1,300 บาท 14 เพลง ได้มีโอกาสฟังอยู่ 2 อัลบั้ม(เบอร์ 1 กับ เบอร์ 11 ) เป็นแผ่นของเยอรมนี ครั้งแรกฟังที่ร้านเครื่องเสียงไฮเอนด์ ก็ไม่เลว ฉายแววว่าไม่ธรรมดาจึงขอยืมมาฟังที่บ้าน ซึ่งประกอบด้วยเครื่องเล่นCD ,หลอด T+A D10,สายเสียง madrigal CZ-Gd2(RCA),อินทริเกรตแอมป์ advanced acoustic,สายลำโพง furugawas-2 ไบ-ไวร์ 2 ชุดเข้าลำโพง monitor audio BR-5 ห้องฟังบุฟองน้ำเก็บเสียง sonex(สีขาวจากเยอรมนี) เสียงและมิติที่ออกมาดีกว่าฟังที่โชว์รูมดังกล่าวอย่างคนละเรื่องเลย(อยากบอกว่าคนละโลกเลย) ก็ควรเป็นอย่างนั้นเพราะ ชุดที่บ้านราคาประมาณเกือบ 10 เท่า ของชุดที่ฟังที่โชว์รูมวันนั้น อันนี้ไม่ว่ากัน อีกอย่างคือ ผมมีความรู้สึกมานานมาก(กว่า 20 ปีแล้ว) ว่าศูนย์การค้าที่โชว์รูมนั้นเปิดอยู่ ระบบไฟน่าจะมีปัญหา กว่า 20 ปีที่ผ่านมาไม่เคยฟังชุดไหนไม่ว่าราคาจะถูก จะแพงลิบลิ่วขนาดไหน(สูงสุดเกือบ 20 ล้านบาท) ไม่มีชุดไหนเสียงดีเลย ! ไม่ว่าจากโชว์รูมไหนๆในศูนย์นั้น

          เป็นอันว่า CD ซุปเปอร์ 2 อัลบั้มนั้น ช่วยให้ชุดที่ผมฟังที่บ้าน “ติดปีก”ขึ้นสวรรค์ได้เลยเสียงเป็นแอนะลอกอย่างยิ่ง อิ่ม แน่น หวานแต่ตื่นตัว น้ำหนักเสียงดีมาก เสียงเกลี้ยงหมดจดอย่างยิ่ง ไม่มีเค้าลางของเสียงดิจิตอลเลย ยังกับฟังจากมาสเตอร์เทปแอนะลอกที่บันทึกความเร็วสูง(คุณภาพเสียงจะดีขึ้น) ช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีเยี่ยม เกลี้ยง สงัด สะอาดหมดจด ชิ้นดนตรีกระเด็นหลุดลอยออกมาเป็นชิ้นๆได้ดี เวทีเสียงกว้างสุดๆลอยหลุดออกมาหาเรา ด้านลึกก็คือ ฟังเพลินเอามากๆแต่ยืนยันได้ว่ายังมีการกดการสวิงเสียงไว้ ไม่ใช่ปล่อยอย่างอิสระที่ระบุว่า uncompressed หากแต่เป็นการควบคุม การสวิงอย่าง “เป็นงาน”เพราะถ้าไม่ควบคุมเลย เกือบจะพูดได้ว่า ต้องใช้แอมป์กำลังขับเป็นพันๆวัตต์(rms) ลำโพงต้อง ขนาดใหญ่ที่รับการสวิงเสียงได้เป็นหลายๆร้อยวัตต์ต่อข้าง(rms) ช่วงค่อยเบาๆอาจใช้วัตต์แค่ 1 วัตต์(ลำโพงความไว 89 ดีบี SPL/W/m) แต่ช่วงดังฉับพลันชั่วเสี้ยววินาที(transient) อาจต้องใช้กำลังขับถึง 1000 วัตต์หรือกว่านั้น ชุดเครื่องเสียงในบ้าน 99.99 เปอร์เซ็นต์ไม่มีทางรับได้ขนาดนั้น ไม่ว่าจะแพงลิบลิ่วขนาดไหน อย่างไรก็ตามแผ่นCD ทั้ง 2 ก็น่าซื้อเก็บไว้เป็น แผ่นอ้างอิงได้

          ความน่าตกใจเกิดขึ้น อันทำให้ผมต้องจับปากกามาเล่าเหตุการณ์ตามหัวเรื่องว่า “แผ่นดี...ช่วยชุดจริงหรือ”ให้ฟังคือเมื่อผมเปลี่ยนอินทริเกรตแอมป์จากราคา 33,000 บาทเครื่องนั้นมาเป็นเครื่องอินทริเกรตแอมป์ Mark Levinson NO383 ที่กำลังขับสูงกว่า (200W/RMS/ch ที่ 4 โอห์ม) ราคา 300,000 บาท(ร่วม 10 เท่า) ลำโพงเป็นวางพื้นเหมือนกับอีกยี่ห้อ ราคาน่าจะสูสีกันอย่างอื่นๆเหมือนกันหมด ปรากฏว่า เสียงโดยรวมกลับออกมาแบบพื้นๆ ไม่ได้ โอ้โห เฮะ แบบชุดเดิม แถมฟ้องว่าลำโพงน่าจะ “เอาไม่อยู่” (ไม่ใช่ว่ารับกำลังขับไม่ได้) เพราะผมก็ไม่ได้เปิดดังตูมตามอะไรไปกว่าชุดที่แล้วทั้งๆที่อินทริเกรตแอมป์ NO383 ดีกว่าแอมป์อย่างไม่มีข้อสงสัยอยู่แล้ว ที่น่าคิดก็คือตอนฟังจากแผ่น CD ปกติทั้ง CD เพลงไทย ,CD ระดับหูทองฟัง 2- 3 แผ่น ฯลฯ ลำโพงนั้นก็สอบผ่านสบายๆถือว่าโอเคเลย เป็นใครก็ต้องคาดหวังว่า เมื่อป้อนด้วยแผ่นซุปเปอร์ 2 อัลบั้มดังกล่าวมันน่าจะยิ่งไปโลดเลย อย่างชุดแรกที่เป็น(ฟังดีกว่าแผ่น CD ปกติ 3 เท่า ) แต่การณ์กลับตรงข้ามกับออกมาทะแม่งๆไม่น่าสนใจ

          ตรงนี้ทำให้เรามองเห็นความจริงอะไรบางอย่าง การจงใจเสาะหาแผ่น CD ระดับซุปเปอร์มาเพื่อเป็นตัวช่วยในการขายชุดหรือโชว์ชุดเครื่องเสียง อาจกลายเป็นตรงข้าม กลับไปฆ่าชุดเครื่องเสียงเสียเองก็ได้ ถ้า

  1. บังเอิญแผ่นCD ซุปเปอร์นั้นทำให้กรวยลำโพงขยับดันเข้าไปในตู้ลำโพง ไม่ผลักดันอากาศออกมาหาเรา(เรียก absolute phase กลับ) ยิ่งแผ่นดีแค่ไหน สวิงได้อิสระเด็ดดวงแค่ไหน จะยิ่งส่ออาการ “ทะแม่งๆ”มากขึ้นแค่นั้น ทั้งสุ้มเสียง รายละเอียด มิติเสียง เวทีเสียง บรรยากาศ ดังนั้นจึงต้องสลับขั้วสายลำโพงบวกเป็นลบ ลบเป็นบวกที่หลังตู้แอมป์ดูด้วย ผมได้ลองสลับดู ปรากฏว่าเสียงมิติดีขึ้นทันที
  2. ถ้าเครื่องเสียงชิ้นนั้นๆถูกออกแบบมาอย่างไม่เผื่อเหลือเผื่อขาด ทุกอย่างแทบถึงจุดจำกัดของมัน(อาจด้วยเหตุผลเพื่อควบคุมต้นทุนการผลิต) หรืออกแบบมาให้ช่วยชดเชย อุ้มชู หรือเสริมแต่งแผ่น CD ธรรมดาให้ฟังเข้าท่ากว่า ที่ควรจะเป็น โดยยอมสูญเสียหรือเปิดจุดอ่อนบางแง่มุมหรือเพื่อให้ขับง่าย แอมป์ชาวบ้านแบบพื้นๆก็ขับออกมาได้ดังเต็มที่กว่าที่ควร เมื่อมาเจอกับแผ่น CD แบบโหดๆที่อัดกันมาเต็มที่ ลำโพงนั้นก็ “ตกขอบ”ไม่ใช่มันไม่ดี มันดีกับแผ่น CD ทั่วไป(รวมหูทอง audiophile) แต่ไม่ใช่แผ่นที่แหกสเปคอย่างนี้(แหกข้อกำหนดของการทำแผ่น CD ) ถ้าเป็นภาคขยายเสียง ถ้ากำลังสำรองเผื่อไม่มากพอ (dynamic headroom ต่ำ ) หรือปั้มอัดฉีดกระแสได้ไม่เต็มที่จริงหรือหยุดการสั่นค้างลำโพงได้ไม่กระชับจริง หรือแอมป์ตอบสนองความถี่ได้สูงมากๆซึ่งทำให้มันส่งผ่านสัญญาณไปสายลำโพง,ลำโพงได้แบบสุดๆที่ความถี่สูงๆก็อาจฟ้องว่าสายลำโพงหรือลำโพงทำงานไร้เสถียรภาพเกิดคลื่นค้างวิ่งวนไปมาระหว่างแอมป์กับลำโพง( oscillation ) เกิดการกระโชกหยุดไม่สนิท              ( ringing ) ที่ความถี่สูงๆ(ที่ยอดหัวคลื่น)ผลคือ เสียงจะสาก,หยาบ,แจ๋น,ล้าหู,บางครั้งพร่า,แห้งไม่พลิ้วฉ่ำ, มิติเละ เสียงเป็นอีเล็คทรอนิกส์ ทั้งหมดคือ “ความเพี้ยน( distortion )” ไม่ว่าจากแอมป์,ปรีแอมป์,สาย,สายลำโพง,ลำโพง

          คำถามต่อไปคือ แผ่นซุปเปอร์ ถ้าจัดทุกอย่างถุกต้อง ไม่ทำให้แอมป์หรือลำโพงทำงานเกินขีด มันจะช่วยเครื่องเสียงได้หรือไม่และอย่างไร

          คำตอบคือ โอเค เมื่อแผ่นดีขึ้น เสียงทั้งหมดและมิติย่อมดีขึ้นกว่าแผ่นปกติ ไม่มากก็น้อย ในกรณีนี้จะพบว่า ยิ่งเป็นแผ่นซุปเปอร์ ยิ่งฟ้องและแสดงความแตกต่างของเครื่องเสียงดีเลิศกับดีปกติ ดีปกติกับแย่ ได้เด่นชัดกว่าแผ่นปกติขึ้นไปอีก อย่างกรณีชุดของผมทั้ง 2 กรณี แผ่น CD ซุปเปอร์นั้น แสดงความแตกต่างของคุณภาพลำโพงได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว นั่นคือ ขณะที่แผ่นซุปเปอร์ช่วยให้ดูเหมือนว่า ชุดดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันมันก็ฟ้องอย่างไม่ลดราวาศอกเช่นกัน

          ดังนั้น การคิดแต่จะหา CD ซุปเปอร์ไม่ว่ารูปแบบไหน ซุปเปอร์มากน้อยแค่ไหนมาช่วยในการให้ขายเครื่องเสียงได้ จึงต้องระมัดระวัง,รอบคอบ,ต้องรู้งาน,รู้ปัญหา,รู้ความสามารถของชุด( หรือของเครื่องเสียงแต่ละชิ้น ) ต้องฟังเก่ง,ตีบทแตก เมื่อเกิดอาการทะแม่งๆขึ้นมาว่าน่าจะเกิดจากจุดไหนในชุด จากระบบไฟ AC ห้องเสียงหรือไม่ ระบบไฟบ้าน/ร้าน,ศูนย์การค้าหรือไม่ มิเช่นนั้น ไม่เพียงแต่แผ่นซุปเปอร์นั้นจะฟ้องชุดเครื่อง

เสียงหากแต่ยังฟ้องความด้อยประสบการณ์ ความรู้ของผู้ขายด้วย

  • CD ที่คุยว่าเป็นแผ่น audiophile ( หูทอง ) ไม่ว่าจะด้วยการบันทึกมาอย่างไร ระบบอะไร ไล่ตั้งแต่แผ่นทอง,แผ่น HDCD, แผ่น DSD,แผ่นXRCD,แผ่นXRCD 24 bits,แผ่นบลู-เรย์CD ฯลฯ มีน้อยอัลบั้มมากๆที่บันทึกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ สมบูรณ์แบบที่สุด(น่าจะไม่ถึง 5 แผ่นจากแผ่นประเภท เหล่านี้ที่มีเป็นร้อยๆแผ่น) ข้อสังเกตนี้ไม่ใช่เฉพาะแผ่น CD ซุปเปอร์ 2 อัลบั้มตัวอย่าง หากแต่รวมแผ่น SACD,
  • DVD-audio ด้วย
  • VCD,SVCD,DVD,Blu-ray(BD) เงื่อนไขอาจคล้ายกันในแง่ที่ว่า ยิ่งแผ่นดี,บันทึกมาเนี้ยบแค่ไหน ภาพก็จะยิ่งดีตามไปด้วย ไม่ปรากฏข้อเสียหรือ เป็นไปได้ว่าเครื่องเล่นภาพและเครื่องแสดงภาพ(จอ LCD,Plasma,CRT,เครื่องฉายภาพหรือProjector)มีความ สามารถ “เกินพอ” กับระบบการบันทึกภาพในปัจจุบัน ตราบเท่าที่เราไม่ป้อนสิ่งที่ตัวรับ(ตัวฉาย) โชว์ไม่ได้(แม้ว่าจะรับได้)เช่น เครื่องฉาย,จอ LCD/Plasma รับได้ถึง 1080p แต่โชว์ได้แค่ 480p (526p) เราก็ไม่ควรป้อน ด้วยสัญญาณภาพที่มากกว่าที่มันจะโชว์ได้จริง อย่าดูที่มันรับได้ มิเช่นนั้น ภาพจะออกมาดูนุ่ม ขาดความคมชัด ขาดพลัง(dynamic contrast แย่ลง )จนถึงภาพกระตุก

เนื่องจากแผ่นหนังต้องมีระบบเสียงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ต้องดูว่าชุดเครื่องเสียงเรารับระบบเสียงได้เต็มที่ ขนาดไหน เข้ากรณีที่เราฟังแผ่น CD ที่พูดมาแล้ว ไม่ใช่กระโดดเล่นแผ่นบลู-เรย์ ( BD ) แล้วก็กดเลือกร่องเสียงHD (เช่น DTS-HD master,Dolby Digital Plus,Dolby Digital TrueHD ซึ่งพวกนี้ให้การสวิงสัญญาณกว้างมาก มันอาจให้ “ตัวโน้ต” ที่ชันกว่าปกติ ฟังแล้วน่าตื่นเต้น ตูมตามถึงลูกถึงคนดี แต่จริงๆก็สร้างปัญหาให้แก่ภาค ขยายและลำโพง ดังกรณีที่กล่าวแล้วกับแผ่นCD ซุปเปอร์ ดูหนังต่างจากฟังเพลง ดูหนังจะตูมตาม แช่อยู่มีก็แค่ ชั่วแว๊บเดียว ตลกมากที่ค่ายระบบเสียงเหล่านี้พยายามผลักดันระบบเสียง HD sound เหล่านี้เพื่อกินลิขสิทธิ์หัวคิว ลิขสิทธิ์ระบบ (พวกผลิตเครื่อง AV ขายก็จะได้หลอกขายรุ่นใหม่ๆได้อีก )  แล้วตอนนี้เป็นไง พวกต้นคิด HD sound ก็นำเสนอวงจรควบคุมการสวิงเสียง (compressed ) อ้างว่าเพื่อเวลาเลือกแต่ละแหล่งรายการจะได้ดังพอๆกันเช่น จากดูทีวี,ดูเคเบิ้ล,ดูDVD,ดูBD ) สุดท้ายก็หวังขายลิขสิทธิ์ระบบนี้อีก (จริงๆก็คงมีคนบ่นโวยวายปัญหา HD sound ก้เลยนำเสนอระบบกดเสียงพิสดารนี้นั่นเอง แต่อ้างว่าเพื่อบาลานช์เสียงจากแต่ละแหล่งรายการ)

          พูดถึงแผ่นภาพ ด้านภาพก็ไม่เข้าใจว่าทำไมในเมื่อแผ่น BD เองก็มีความจุกว่า 50GB ( 2 ผิว ) ทำไมไม่ บันทึกภาพแบบเต็มที่ ไม่ย่นย่อข้อมูลกันเลย ไม่ต้องพูดถึง AVCHD,MPEG,VD อะไรทั้งนั้น ถ้าหนังมันยาวก็ทำมา 2 แผ่น BD เลย บางเจ้ากลับบังคับขายแผ่น BD พร้อม DVD พร้อมแผ่นย่อสัญญาณสุดๆไว้ใส่เครื่องพกพา  (Digital Copy ) ทำไมไม่ให้ BD 2 แผ่นบันทึกสุดๆ 60Hz กันเลย ( จริงๆมีแผ่น BD ที่บันทึกได้กว่า 100 GB พร้อมผลิตขายแล้ว ) ผมเชื่อว่า ภาพ,มิติ จะดีขึ้นอีกมาก หรือคิดแต่หลอกขายระบบ 3D เท่านั้น

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459